ออมสินเผย 5 ยุทธศาสตร์ปี 65 สานต่อธนาคารเพื่อสังคม เตรียมผุดรับขายฝาก

เรื่องที่น่าสนใจ

ออมสินเผยแผนปี 65 เดินหน้าธนาคารเพื่อสังคม เน้นสร้างอาชีพ รายได้ให้ลูกค้ากลับมายืนหยัดได้หลังโควิด พร้อมวาดแผนธุรกิจใหม่รับขายฝากมุ่งสร้างอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม คาดเริ่มได้กลางปีหน้า

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงแผนงานในปี 2565 ว่า ธนาคารยังสานต่อภารกิจธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) จากปีนี้ที่ได้เริ่มต้นมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ เช่น การปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องให้ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการพักชำระหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

สำหรับในปี 2565 ธนาคารได้มีแนวทางในการดำเนินการ 5 ประการสำคัญ อันได้แก่ 1.การเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยเป็นการสร้างโอกาสให้ฟื้นตัว เสริมสร้างอาชีพ สนับสนุนช่องทางสร้างรายได้ สนับสนุนแหล่งเงินทุนให้ลูกค้าเพื่อสร้างโอกาสหารายได้เข้ามาหลังจากโรคระบาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว 2.แนวคิดในการทำสินเชื่อที่ดิน-ขายฝาก โดยการจัดตั้งบริษัทลูกให้บริการด้านสินเชื่อที่ดินและการขายฝาก โดยอยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมการออกโปรดักต์ขายฝาก ซึ่งหลังจากเสนอคณะกรรมการพิจารณาแล้วออกสินเชื่อนี้ได้ช่วงกลางปีหน้า

3.การทำ digital Lending on MyMo ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและยกระดับแอปพลิเคชัน MyMo ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ทโฟนด้วยแอป MyMo ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล Alternative Data Analytic หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 24,000 ล้านบาท 4.สนับสนุนการออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เงินฝาก สร้างหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ และ 5.การขาย/โอนหนี้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้ภาคธุรกิจ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ธนาคารได้รับอนุญาตให้สามารถขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้บริษัทบริหารหนี้ได้แล้ว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในเรื่องการบริหารต้นทุนให้ดีขึ้น

“ในปีหน้าเรายังคงให้ความสำคัญกับการเป็น Social Bank แต่จะปรับจากการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องมาเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ที่ว่างงานสามารถกลับมาทำมีลู่ทางทำมาหากิน ขณะเดียวกัน จะเริ่มเข้าสู่ธุรกิจขายฝากสินทรัพย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราจะต้องบาลานซ์ไปกับอีกบทบาทหน้าที่คือการจัดส่งรายได้ให้ภาครัฐด้วย ซึ่งตรงนี้เราทำมาได้ดีมาแล้วดังจะเห็นได้จากผลประกอบการในปีนี้”

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 89,730 ล้านบาท รายได้อื่นๆ 10,320 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 28,040 ลดลง 7,859 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 28,790 ลดลง 4,400 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินสามารถลดต้นทุนกว่า 12,259 ล้านบาท นอกจากผลการดำเนินมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีแล้ว ธนาคารยังสามารถปรับตัวให้สอดรับกับบทบาทก้าวเข้าสู่ Social Bank ไปพร้อมๆ กับสามารถนำส่งรายได้เข้าคลังได้อยู่ที่ 15,978 ล้านบาท รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรซึ่งสามารถ General Provision โดยกันสำรองเพิ่ม 32,434 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับ NPL ได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในบทบาทของ Social Bank ธนาคารให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563-2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม นำกำไรจากธุรกิจปกติมาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม ขณะเดียวกัน ยังเป็นการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วกว่า 36 โครงการ ช่วยเหลือประชาชน 11.6 ล้านบาท รวมแล้วกกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของการเสริมสภาพคล่อง ธนาคารสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท และมีเงินนำส่งรายได้เข้ารัฐ จำนวน 15,978 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง

รวมถึงยังช่วยปรับลดโครงสร้างดอกเบี้ยตลาดจากการร่วมกับพันธมิตรในการทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในอัตราดอกเบี้ยที่ 14-18% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดที่ 24% ซึ่งช่วยให้ผู้กู้รายย่อยได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงเป็นการดึงผู้กู้นอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วยการปล่อยกู้ให้ผู้ที่มีหลักฐานทางการเงินไม่เพียงพอที่จะกู้สถาบันการเงินอื่นด้วย และช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เสียประวัติการเงิน อยู่ที่จำนวนกว่า 3.4 ล้านราย หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานทางการเงิน ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีสินทรัพย์รวม 3 ล้านล้านบาท มีเงินฝากรวม 2.55 ล้านล้านบาท มีสินเชื่อรวม 2.26 ล้านล้านบาท และมีระดับ NPLs ที่ 2.56%

“ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งภารกิจที่ตั้งเป้าไว้เป็นการปรับธนาคารออมสินให้เป็น social bank โดยเรายังดำเนินธุรกิจในรูปแบบของธนาคารพาณิชย์เพื่อที่จะนำรายได้มาช่วยสนับสนุนภาคประชาชนฐานราก ดังจะเห็นได้การปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากหรือไม่ได้เลย การพักชำระหนี้และอื่นๆ ที่ช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนในช่วงโควิดได้กว่า 2 ล้านราย รวมถึงการร่วมกับพันธมิตรในการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในอัตราที่ต่ำกว่าตลาด เป็นการปนับโครงสร้างดอกเบี้ยให้มีความเป็นธรรมกับผู้กู้รายใหญ่ และเสริมความแข็งแกร่งให้ธนาคารด้วยการเพิ่มสำรองส่วนเกินขึ้นจากเดิมที่มีประมาณ 5,000 ล้านบาท มาเป็นระดับกว่า 30,000 ล้านบาท แม้ว่าออมสินจะเป็นธนาคารของรัฐ แต่ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองด้วย เพื่อจะได้ช่วยคนอื่นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจุดหนึ่งที่ทำให้เราสามารถทำได้ตามความจุดมุ่งหมายนั้น นอกเหนือจากการสนับสนุนในการรับประกันหนี้จากรัฐบาลแล้ว คือการบริหารต้นทุนที่ลดลงอย่างมากทำให้เราสามารถกันสำรองเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นในช่วงที่การหารายได้เป็นเรื่องยากในสถานการณ์โควิด”

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket