“สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า” ยืนยัน “ความเชื่อของผมได้รับอิทธิพลมาจากมาร์กซิสม์”

สภากาแฟ

“ผมเป็นมาร์กซิสม์ ผมไม่ได้เชื่อในหลักศาสนาขนาดนั้น แต่ผมสนใจว่าศาสนาสัมพันธ์กับสังคมยังไง”

นี่คือประโยคแรกที่ทำหน้าที่เป็นทั้งคำประกาศ คำทักทาย และคำเกริ่นแนะนำตัวของ เณรโฟล์ค – สหรัฐ สุขคำหล้า นักศึกษาปริญญาตรี วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนเริ่มต้นพูดคุยถึงการตัดสินใจออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต้องการปฏิรูปสถาบันศาสนา เพราะเณรมองเห็นว่ามีปัญหาเรื้อรังไม่ต่างจากสถาบันอื่นๆ ในสังคม แต่กลับไม่มีใครพูดถึง หรือหยิบยกขึ้นมาถกเถียงหาทางแก้ไข

ความพยายามส่งเสียงของเณรให้สังคมรับรู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ศาสนาพุทธต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทโลกสมัยใหม่ จึงกลายเป็นสิ่งเร้าที่สร้างความสนใจให้คนจำนวนมาก ทั้งสนับสนุนและต่อต้าน

หากการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และข้องเกี่ยวกับทุกเรื่องในชีวิต ในแง่มุมหนึ่ง เณรคือพลเมืองของรัฐที่มีสิทธิ์มีเสียงไม่ต่างจากฆราวาส หรือกล่าวอย่างเข้าใจง่ายที่สุดได้ว่า เณรคือประชาชนคนหนึ่ง

ดังนั้น การปลดแอกตัวเองจากขนบเก่าที่จองจำนักบวชให้อยู่ในความสำรวม ทำให้สังคมไทยกลับมาตั้งคำถามถึงบทบาทและการมีอยู่ของศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง (แม้บางคนจะไม่ยอมรับ และปฏิเสธเสียงแข็งว่าศาสนาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง)

ไม่ว่าใครจะคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่เณรคิดและทำ เห็นด้วยหรือเห็นต่าง แต่สังคมประชาธิปไตยย่อมเปิดกว้างรับฟังเสียงของทุกคน เสียงของเณรที่ถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์นี้จึงควรค่าได้ยินเช่นเดียวกัน อย่างน้อยที่สุด เพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมเณรถึงคิดและพูดออกมาด้วยประโยคแรกแบบนั้น

หลักคิดในศาสนาพุทธให้ความสำคัญเรื่อง ‘สาเหตุทำให้เกิดผลลัพธ์’ อยากทราบว่าอะไรทำให้เณรตัดสินใจออกมาร่วมเรียกร้องทางการเมืองอย่างเปิดเผย

เป็นเพราะความคับข้องใจของผม ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นผมยังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในหลักการทางการเมืองมากนัก มีความคิดพื้นฐานแค่ว่า การเมืองเป็นเรื่องของคนกรุงเทพฯ ไม่เกี่ยวกับคนต่างจังหวัด แต่พอโตขึ้น ปัญหาสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำในที่อื่นๆ กลับไม่ได้รับการพัฒนาเหมือนเขตเมือง ปัญหาการเมืองที่ทำให้คนใช้ชีวิตลำบากมากๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ทำให้ครอบครัวของผมได้รับผลกระทบเรื่องทำมาหากิน พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อ ผมต้องจำใจมาบวชเรียน ทำให้ผมเริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ และหันมาสนใจเรื่องการเมืองจริงจัง

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับผู้ชุมนุม คือหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เพราะผมเห็นชัดเจนแล้วว่ารัฐที่มาจากคณะรัฐประหารบังคับใช้อำนาจทางกฏหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ในพวกตัวเองฝ่ายเดียว ผมเห็นความบิดเบี้ยวและความย้อนแย้ง ทุกอย่างผิดแปลกจากหลักการประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

ผมเริ่มเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังก่อน คอยช่วยเหลือฝ่ายต่างๆ ทั้งช่วยจัดสถานที่ จัดเตรียมยาและอุปกรณ์ให้แพทย์อาสา แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผมเปิดหน้าชุมนุม คือเหตุการณ์อุ้มจับไผ่ ดาวดินวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2563 วันนั้นผมกำลังเอาหนังสือไปให้เพื่อนที่วัดสุทัศน์ฯ ระหว่างเดินผ่านจุดที่ผู้ชุมนุมจัดกิจกรรม เห็นตำรวจทหารล้อมไว้เยอะมาก ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง จึงเข้าไปร่วมเป็นกำแพงมนุษย์เพื่อปกป้องไผ่ ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงการจับกุม คุกคาม และอุ้มหายที่เกิดขึ้นกับแกนนำและนักกิจกรรมก่อนหน้านี้ด้วย พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด

ครั้งแรกที่เปิดหน้าชุมนุม จนถึงขึ้นเวทีปราศัยแต่ละครั้ง ด้วยเงื่อนไขการปกครองที่มองผู้เรียกร้องประชาธิปไตยว่าสร้างความวุ่นวายไม่สงบสุข เชื่อว่าเณรได้คิดทบทวนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาแล้วเหมือนกัน

คิดแล้วว่าต้องมีแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงในชีวิต เพราะการเป็นพระหรือเป็นเณรต้องขอวัดเป็นที่อยู่ ตาม พ.ร.บ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 อำนาจสิทธิ์ตัดสินขาดอยู่ที่เจ้าอาวาส แล้วการแต่งตั้งเจ้าอาวาสก็มาจากส่วนกลาง หรือมหาเถรสมาคมและพระสังฆราช เป็นระบบศักดินาที่กษัตริย์แต่งตั้งให้อีกทีหนึ่ง

ผมรู้ว่ากำลังต่อสู้กับระบบอะไรอยู่ แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ความเป็นไปได้แรกคือการถูกขับออกจากวัด เลยขอออกมาอยู่หอพักมหาวิทยาลัยแทน เพราะไม่อยากให้ท่านเจ้าอาวาสเดือดร้อนหรือรู้สึกหนักใจ แต่คำสั่งจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ยังตามมาถึงมหาวิทยาลัยว่าให้ผมกลับไปรายงานตัวที่วัดต้นสังกัดในจังหวัดพะเยา แต่มหาวิทยาลัยช่วยปกป้องเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกของนักศึกษา กลับกัน ถ้าผมเรียนในวิทยาลัยสงฆ์ คงถูกภาคทัณฑ์หรือถูกขับออกให้พ้นสภาพการเป็นนิสิตไปแล้ว

เณรกำลังจะบอกว่า “คุ้มเสี่ยง”

ใช่ ผมคิดว่าคุ้มที่จะเสี่ยง เราเป็นคน อย่างน้อยได้ออกมาสู้ ดีกว่านั่งอ่านแต่หนังสือแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะพื้นฐานความเชื่อของผมได้รับอิทธิพลมาจากมาร์กซิสม์ (Marxism) ค่อนข้างมาก

มีคำพูดหนึ่งของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ผมจำขึ้นใจคือ “นักปรัชญาเพียงแต่มองดูโลก ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนแปลงโลก” (The philosophers have only interpreted the world, in various ways. The point, however, is to change it.)

ผมทำใจไว้แล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้

หมายความว่า จุดยืนทางการเมืองของเณรอยู่บนฐานคิดแบบมาร์กซิสม์

ผมมีโลกอุดมคติที่อยากให้คนทำงานแค่ 6 ชั่วโมง มีวันหยุดสามสี่วัน คือทำงานให้น้อย มีเครื่องจักรช่วยทำงาน จะได้มีเวลาอยู่กับตัวเองหรือทำสิ่งที่ชอบ คนเราไม่ควรถูกขูดรีดให้ทำงานหนักมากเกินไป

หรือความรุนแรงในระบบ เช่นเราไม่เห็นด้วยกับการที่นักกิจกรรมถูกอุ้ม แต่เรากลับมองไม่เห็นคนที่อดอยากโดยระบบทุนนิยม แม้จะเป็นประชาธิปไตย แต่เรายังเห็นว่ามีคนอดมื้อกินมื้อ มีคนไร้บ้าน หรือทนอยู่สลัม ผมจึงมองว่าถ้ามีประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม สังคมจะให้ความสำคัญในเรื่องรัฐสวัสดิการ รัฐจะจัดสรรทรัพยากรให้คนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ เพื่อเป็นรัฐแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ปล่อยให้ตลาดแข่งขันกันอย่างเสรี ไม่ให้นายทุนควบคุมรัฐแล้วแทรกแซงอำนาจมากำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนอย่างเดียว ลิดรอนประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับไป

หรือความพยายามบีบให้ผมออกจากวัด ก็ชวนตั้งคำถามว่า เราจะมองศาสนาพุทธในอนาคตอย่างไรต่อไป ถ้ารัฐใช้อำนาจกายภาพ (physical power) ปราบปราม คุกคาม กลั่นแกล้งให้ผมพ้นสภาพนิสิตและต้องออกจากวัด แต่อำนาจทางศาสนาไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะยังมีการใช้อำนาจผ่านคำสอนบังคับให้เชื่อฟังโดยไม่ต้องตั้งคำถามด้วย ซึ่งย้อนแย้งกับสังคมปัจจุบันที่คนตั้งคำถามมากขึ้น ในที่สุดการครอบงำแบบไร้เหตุผลจะเสื่อมลง ความชอบธรรมของผู้ปกครองก็จะหมดลง

 จุดเปลี่ยนที่ทำให้เณรเริ่มตั้งคำถามต่อศาสนาพุทธ และปลดแอกตัวเองออกมาประกาศชัดเจนว่าต้องการปฏิรูปศาสนาพุทธเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ผมเริ่มบวชเณรหลังจบ ป.6 ตอนอายุ 12 ปี เพราะจน ครอบครัวไม่มีเงินส่งในเรียนต่อ แต่สิ่งที่ผมเจอกลับเป็นระบบโซตัสซึ่งผิดจากที่ผมคาดไว้มาก เพราะเจ้าอาวาสให้อำนาจกับเณรที่อายุมากกว่าเป็นพี่ใหญ่คอยปกครองเณรอายุน้อยกว่าในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ทำกิจของสงฆ์จนถึงระเบียบการใช้ชีวิตในวัด เช่น ถ้าสวดมนต์บทนี้ไม่ได้ก็จะถูกฟาดสามแส้ ถ้ายังสวดไม่ได้อีก วันต่อมาจะถูกฟาดเพิ่มอีกสามแซ่ แล้วเป็นระบบที่ตั้งพี่ใหญ่ไว้หลายๆ คน ถ้าเราไปคุยกับคนที่พี่ใหญ่อื่นๆ ไม่ชอบ เราก็จะถูกตีถูกแกล้งอีก ระบบโซตัสกดให้เราไม่ตั้งคำถามหรือโต้เถียง แล้วเราต้องอยู่กับระบบนี้ตลอด 24 ชั่วโมง

ยังมีอีกเรื่องที่กำลังคุกคามเณรที่บวชเข้ามา คือพระข่มขืนเณร จริงๆ แล้ววัฒนธรรมการบวชของภาคเหนือค่อนข้างแตกต่างกับภาคกลาง เพราะภาคเหนืออนุญาตให้บัณเฑาะก์บวชได้ หลายจังหวัดทางภาคเหนือจึงมีพระตุ๊ด เณรแต๋ว ตรงนี้ไม่ได้น่าตกใจ เพราะผมรู้ว่าวิถีการบวชไม่ใช่เพื่อบรรลุอรหันต์ แต่เพื่อบวชเรียนเท่านั้น

ส่วนเณรที่ถูกพระบัณเฑาะก์ลวนลามยิ่งตอกย้ำว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ชีวิตมีทางเลือกไม่มากพอ เณรบางคนทำอะไรไม่ได้ ต้องยอม ผมคิดว่าการบวชไม่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายของคนจน การบวชควรเป็นสิ่งที่เกิดจากความตั้งใจมากกว่า หากบวชเพราะจน จะเกิดปัญหาข่มขืนเณรขึ้น ภาพที่ผมเห็นทำให้รู้สึกหดหู่ แล้วตอนนั้นผมยังเด็กประมาณสิบสามสิบสี่ เสียใจที่ไม่สามารถทำอะไรหรือช่วยอะไรได้ เพราะงงไปหมด ทุลักทุเล ไม่รู้ว่าควรจะทำยังไงดี เราก็กลัวว่ามันจะกระทบต่อตัวเองด้วย คือผมอยู่วัดที่ห่างไกลจากพ่อแม่มาก ทำให้เราต้องเห็นแก่ตัวโดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

ศาสนาพุทธในสังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤติศรัทธา เพราะถูกตั้งคำถามมากขึ้นผ่านการประพฤติของทั้งนักบวชและศาสนิกชน ในมุมมองของเณร ศาสนาพุทธควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

เรายืนอยู่ในโลกทุนนิยม มันแน่นอนอยู่แล้วว่าพุทธศาสนาอาจจะถูกปรับไปเป็นสินค้าหรือเชิงพุทธพาณิชย์มากขึ้น เราไม่สามารถปฏิเสธการทำทุกอย่างให้เป็นสินค้าในโลกทุนนิยมได้ แม้ว่าจะทำให้ใครรู้สึกไม่พอใจเพราะขัดกับขนบธรรมเนียมแบบเก่าที่มองว่าพุทธแท้ต้องมุ่งสู่การปลอยวางและนิพพาน แต่ศาสนาจะต้องถูกตีความใหม่ในโลกของทุนนิยม แล้วความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้จะไปตอบโจทย์ตลาดแรงงาน อุปสงค์ และอุปทาน เช่น ผู้คนนิยมเครื่องราง วัดจะปลุกเสกพระเครื่องของขลังออกมาขาย หรือคนสนใจเกมผี ผู้สร้างก็เอาศาสนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกม หรือคนไทยชอบพิธีกรรมมงคล ก็จะนิมนต์พระไปสวดไปเจิมไปให้พร ทั้งหมดนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นมาใหม่เพราะทุนนิยม ไม่ได้มีอยู่ในขนบของพุทธศาสนา

ผมมองว่าในอนาคตสังคมไทยควรเปิดกว้างเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) คือเป็นกลางด้านศาสนา ปฏิบัติต่อคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่สนใจว่าใครจะนับถือศาสนาใดหรือไม่ แล้วทำให้องค์กรศาสนาทั้งหมดกลายเป็นองค์กรเอกชนถูกเรียกเก็บภาษีแบบนิติบุคคล ตรวจสอบเงินเข้าและเงินออก อยู่ได้เพราะการสนับสนุนของคนที่ศรัทธาไม่ใช่รัฐ ถ้าให้รัฐสนับสนุนศาสนา รัฐจะเก็บภาษีจากประชาชนไปให้ศาสนาอีกทีหนึ่ง เหมือนผลักภาระให้ประชาชนแบบเนียนๆ แทนที่จะได้เอาภาษีตรงนี้ไปพัฒนาสวัสดิการด้านอื่นๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น อย่างรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี กระทั่งอินเทอร์เน็ตฟรี

ถ้าศาสนาพุทธดีจริง คนนับถือจริง ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องกังวลอะไร เพราะยังไงคนที่เชื่อในศรัทธาต้องเข้ามาสนับสนุนบริจาคให้อยู่แล้ว ผมมองศักยภาพการแข่งขันของของศาสนาในโลกของทุนนิยมมากกว่า

แนวคิดรัฐโลกวิสัยกลับตรงกันข้ามกับความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมารัฐเผด็จการพยายามผลักดันและสนับสนุนให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

การนำศาสนาเข้ามาผูกกับรัฐเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือชัดเจนมากๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ที่เริ่มแนวคิดว่ากษัตริย์เป็นศาสนูปถัมภกให้กับศาสนาพุทธ สังคมไทยเลยเหมือนแทงกั๊กเป็นนัยว่าสนับสนุนพุทธเป็นเบอร์หนึ่ง เพราะมีสถานะของกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งมาจากการใช้คำสอนศาสนามาสลายความขัดแย้งระหว่างดินแดนในอดีตแล้วสร้างอัตลักษณ์เดียวกันเพื่อรวมชาติโดยอาศัยคำสอนศาสนาพุทธจากส่วนกลางแทรกแซงเข้าไปอยู่รวมกับความเชื่อในพื้นที่ต่างๆ

คำสอนเหล่านี้เป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับการเมืองหรือการปกครองคนทั้งหมด เช่น กษัตริย์คือชาติหนึ่งที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพียรเพื่อไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในชาติหน้า วิธีคิดนี้จะสร้างความเชื่อให้คนศรัทธากษัตริย์อย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะกษัตริย์มีสถานะไม่ต่างจากพระโพธิสัตว์ หรือผู้บำเพ็ญเพียรอุทิศตนช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไป ส่วนคนที่ศรัทธาจะรู้สึกว่าต้องทำดีกับกษัตริย์ เพื่อชาติหน้าหลังตายไปแล้วจะได้เกิดชาติเดียวกับพระพุทธเจ้า คุณค่าทางใจหรือการหลอมรวมทางจิตใจจึงอยู่ที่กษัตริย์เท่านั้น ส่วนคนที่ไม่ศรัทธาจะไม่ได้เกิดใหม่ในชาติเดียวกับพระพุทธเจ้า วิธีคิดเรื่องมรณานุสติของคนที่เชื่อแบบนี้จะต่างจากคนทั่วไป ซึ่งไม่เมคเซนส์กับความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน

หลังจากเณรเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ ในสายตาของเณร มองเห็น ‘ความเท่าเทียม’ ว่ามีหน้าตาแบบไหน
ตอนแรกผมคิดว่า ทุกคนมีโพธิจิต มีสิทธิ์บรรลุนิพพานได้เหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิ์แสวงหาและนิยามความหมายชีวิตของตัวเองได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร แม้กระทั่งผู้ไม่มีศาสนา (atheist)

แต่หลังจากผมเข้าร่วมชุมนุมครั้งที่จัดบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผมเห็นน้องๆ ที่ถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้านแล้วต้องมานั่งขายของหรือของเงินบริจาค มุมมองของผมก็เปลี่ยนไปว่า เสรีภาพในการเลือกของมนุษย์จริงๆ ไม่ได้มีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เสรีภาพและความเท่าเทียมของเราสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิตและถูกกดอยู่ใต้บริบทสังคม หรือสถานะสังคม เช่น การเป็นลูก

อะไรคือหัวข้อหลักที่เณรมักจะแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ชุมนุม หรือผู้ชุมนุมยกขึ้นมาชวนพูดคุย

คนที่มาชุมนุมมีเป้าหมายเดียวกันคือปฏิรูปโครงสร้างสังคม ประเด็นที่คุยจึงเป็นเรื่องทั่วไปในแนวทางหัวก้าวหน้า (Progressivism) ทั้งหมด แต่คำถามที่ผมถูกถามบ่อยและมีคนเข้ามาชวนคุยมากที่สุดคือความเป็นพระกับการชุมนุม

จริงๆ การเป็นพระของผมไม่ได้บวชไปเพื่อดับทุกข์ส่วนตัว หรือไปนิพพานอย่างเดียว แต่ยังมีทุกข์จากภายนอกที่เป็นทุกข์ของสังคม เป็นทุกข์ของส่วนรวมด้วย ต้องเข้าใจก่อนว่าพระหรือเณรอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง ต้องเป็นผู้ขอบิณฑบาตจากญาติโยม แล้วโยมส่วนใหญ่ก็มีมุมมองว่าสมควรแล้วที่ออกมา เพราะคนที่เราขอข้าวกินจากศรัทธากำลังเดือดร้อน ทั้งจากเหตุบ้านการเมือง โควิด-19 และวิกฤติทางเศรษฐกิจ ทั้งตัวเราและเขาก็มองตรงกันว่าสมควรแล้วที่จะมาร่วมเรียกร้องและอยู่กับเขา

เหมือนเราใส่เครื่องแบบทางศีลธรรมอยู่ เมื่อเห็นเขาถูกปราบปราม ถูกฉีดน้ำใส่ เราควรจะมองอยู่เฉยๆ ปิดปากเงียบ ไม่พูดอะไรได้เลยเหรอ ทั้งๆ ที่เราสอนเรื่องจริยธรรม ความเมตตา ความอดทน ความปราณี ความเห็นอกเห็นใจกัน แต่ทำไมปฏิบัติไม่ได้ เราดีแต่สอนอย่างเดียวหรือเปล่า เป็นเรื่องที่พระและเณรต้องถามตัวเองกัน

ส่วนคนที่ถือแนวคิดอนุรักษ์นิยมจะถามว่า ไปทำไม โลกไม่ติเตียนท่านเหรอ คนจะมองไม่ดี ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ผมเลยตอบว่า วิพากษ์วิจารณ์ได้ เป็นสิทธิ์ของโยมที่จะเลือกใส่หรือไม่ใส่บาตร ผมไม่ได้บังคับให้คุณโยมใส่บาตร หรือกรณีคุณศรีสุวรรณ จรรยา บอกว่า พุทธศาสนายอมรับไม่ได้ ไปเรียกร้องกับคนในชุมนุมได้ยังไง รู้อยู่แล้วว่าพวกนั้นมาเพื่ออะไร หนึ่งไล่นายกฯ สองแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสามปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมมองว่า สิ่งที่เด็กพูด นักศึกษาพูด หรือประชาชนพูด ไม่ผิด แล้วทำไมต้องอยู่กับฝั่งลุแก่อำนาจใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่คนชุมนุมก็เป็นคนเหมือนกัน

ถ้าสิ่งที่เขาพูดมันผิด คุณก็ชี้แจงมา ซึ่งการโต้เถียงของฝั่งนั้น ทั้งอาจารย์อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ไม่ได้ให้เหตุผลหนักแน่พอที่ผมจะเชื่อได้ การร่วมชุมนุมเป็นสิทธิ์ของผมตามรัฐธรรมนูญ และไม่ผิดหลักพระธรรมวินัย

เณรรู้สึกอย่างไรเมื่อผู้ชุมนุมเรียกว่า ต้าวแคร์รอต แก๊งแคร์รอต

เป็นสัญญะ (signified) ที่ใช้เรียกกัน อย่างสมัยพระพุทธเจ้า ยังเรียกพระว่าหัวโล้นขอทานเลย เรารู้สึกว่าทำให้ใกล้ชิดกับมวลชนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่นับถือศาสนาก็เห็นเราเป็นคนธรรมดา เป็นปัจเจกชน สามารถพูดถึงได้ทุกแง่มุม ล้อเลียนได้ ที่สำคัญเขาเคารพความเป็นคนของเรา แต่กลุ่มที่จารีตนิยม อนุรักษ์นิยมที่แสดงออกว่าเคร่งศาสนาเข้าวัดปฏิบัติธรรม ในสังคมออนไลน์กลับด่าทอไล่ให้ไปตาย การคิดต่างทำให้เราไม่ใช่คนในสายตาเขา

สาเหตุที่เณรต้องจำใจบวชเพราะผลกระทบด้านการเมือง แต่ถ้าในตอนนั้นการเมืองดีและทำให้ครอบครัวของเณรใช้ชีวิตได้ปกติสุข ตอนนี้เณรจะเป็นยังไง และทำอะไรอยู่

ผมอยากจะบอกว่าหลังจบ ป.6 ผมได้รับทุนนักกีฬาฟุตบอล และได้เรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัด แต่ทุนที่ได้ให้แค่ครึ่งเดียว พ่อแม่ต้องจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง ตอนนั้นครอบครัวมีเงินพอส่งเรียนแค่น้องสาว ผมต้องเสียสละ นึกกลับไปถึงเวลานั้น ผมก็รู้สึกน้อยใจเหมือนกัน เพราะถ้าการเมืองดีผมอาจจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ หรือไม่ก็กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยพะเยา ไม่ต้องมาสอบแข่งขันในมหาวิทยาลัยท็อปๆ ในกรุงเทพฯ ก็ได้ แค่นั้นผมก็มีความสุขแล้ว

วัดและธรรมะมักเป็นที่พึ่งทางใจของคนมีความทุกข์ แต่ถ้าคนที่กำลังทุกข์ใจคือตัวเณรเอง อะไรคือหลักยึดหรือที่พึ่งให้หายทุกข์ของเณร

ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้มีความหมายของชีวิต เมื่อรู้สึกเศร้าจะพยายามทำสมาธิ คิดทบทวน หรือยึดตัวเองเป็นหลัก แต่ผมกลับมารู้สึกว่าชีวิตมีความหมายจริงๆ หลักจากได้สู้และออกมาร่วมเรียกร้องกับมวลชน เพราะผมเห็นว่ายังมีคนจำนวนมากที่ทุกข์และลำบากเหมือนผมหรือมากกว่าผมในอดีต บางคนไม่มีโอกาสเรียน ไม่มีโอกาสบวช ชีวิตต้องดิ้นรน อย่างเพื่อนๆ หลายคนที่เรียนจบ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ เมื่อผมมีโอกาสบวชเรียนทำให้คิดว่า เราสามารถเอาความรู้ที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในสังคมได้ กระจายความรู้ ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เรียกร้องโอกาสที่จะทำให้ชีวิตของคนรุ่นต่อๆ ไปดีขึ้น ก็น่าจะคุ้มค่าและเป็นหลักยึดที่ดีมากแล้วสำหรับผม

หากมองภาพถัดไปว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญที่ยุติธรรม ทุกคนเท่าเทียมกัน ณ วันนั้น ศาสนาพุทธควรจะมีบทบาทอย่างไร และหน้าที่ของนักบวชควรเป็นอย่างไร

ในอุดมคติของผม อาจจะมีสำนักสงฆ์ที่อธิบายสภาวะความเป็นนิพพานให้ทุกคนมาค้นหาความหมายของชีวิตตัวเอง และเปิดกว้างให้คนถกเถียงกันว่านิพพานคืออะไร เวลาเข้าถึงนิพพานจะยังมีหรือไม่มีอัตตา น่าจะตอบโจทย์เรื่องการหาความหมายของชีวิต เพราะถ้าอิงลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ความต้องการขั้นสุดท้ายหรือขั้นสูงสุดคือการค้นหาความหมายของชีวิต ซึ่งศาสนาจะเสนอทางเลือกให้การค้นหาความหมายหลายๆ รูปแบบให้ผู้คน ส่วนพระจะคอยทำหน้าที่สนับสนุนให้คนเข้าถึงความหมายนั้นๆ โดยไม่บังคับให้ใครเชื่อหรือศรัทธา

ต่อให้สังคมศิวิไลซ์แล้วขนาดไหน แต่การเปิดกว้างให้ตีความและตั้งคำถามอย่างเสรี อาจทำให้เกิดการขัดแย้งทางความเชื่อได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา คนต้องถกเถียงกันด้วยเหตุผล มีสติ เคารพกันและกัน ไม่เลยเถิดถึงขั้นทำร้ายกัน

การถกเถียงในชั่วโมงเรียนก็สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของความคิดความเชื่อในสังคมได้เหมือนกัน เณรมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนนักศึกษาในเรื่องอะไรบ้าง

เพื่อนเคยถามว่า พระพุทธเจ้าหลังเกิดเดินเจ็ดก้าวจริงไหม บางคนแซวว่าพระพุทธเจ้าเห็นแก่ตัวนะ หนีลูกเมียไปอยู่ในป่า เท่าที่สังเกต ผมแบ่งกลุ่มความเชื่อของเพื่อนๆ ทั้งนักศึกษาและเณรด้วยกันในชั้นเรียนได้เป็นสามสาย

สายแรกคือ เทววิทยา (Theology) เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเดินได้เจ็ดก้าวจริงๆ

สายที่สองแบบผม คือคิดแบบรื้อถอนลดทอน (Reductionism) พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่มีการแต่งสีเติมไข่ว่าการเดินเจ็ดก้าว ซึ่งต้องตีความหมายในพระคัมภีร์อีกทีว่า พระพุทธเจ้าเกิดมาก็จะเดินเทศนาในอินเดียเจ็ดแคว้น ไม่ได้หมายความว่าได้เดินเจ็ดก้าวตั้งแต่แรกเกิด หรือประสงค์แรกของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ต้องการไปบรรลุอรหันต์หรอก แต่เป็นเพราะว่ากลัวตาย ถึงต้องหนีไปบวชเพื่อหลุดพ้นจากความกลัวนั้น ทำให้เข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับจนยอมรับความตายได้ จึงกลับมาสอนลูกเมีย สอนคนอื่นๆ ผมเชื่อว่าในวาระแรกที่พระพุทธเจ้าหนีลูกเมียเพราะความเห็นแก่ตัว ไม่ได้เกิดจากเพราะเขารู้ว่าจะตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า

สายที่สาม คือแสวงหาความจริงในปรากฏการณ์ (Phenomenology) ไม่รู้จุดยืนที่แน่ชัดของพวกเขา แต่มักจะให้ความสำคัญกับพิธีกรรม เข้าร่วมพิธีไปเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์บางอย่าง

บรรยากาศของการถกเถียงอย่างมีเหตุผล ช่วยสร้างสังคมประชาธิปไตย เพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด

ใช่ แต่ถ้าเรียนในวิทยาลัยสงฆ์แล้วพูดว่าพระพุทธเจ้าเดินได้เจ็ดก้าวเป็นเรื่องแหกตา ผมอาจจะโดนประชาทัณฑ์ หรืออาจจะถูกขับไล่ออกจากวิทยาลัย การเชื่อโดยไม่คิดถึงเหตุผลหรือตั้งคำถามจึงทำให้ผมออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะผมไม่ต้องการอดทนอดกลั้นกับสิ่งเหล่านี้ในสังคมพระอีกต่อไปแล้ว ศาสนาไม่ควรทำให้คนงมงายจนไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุผลบนพื้นฐานความเป็นจริง

ฐานคิดแบบมาร์กซิสม์ มักจะถูกโจมตีว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communism) นิยมความรุนแรง ในฐานะที่เณรเชื่อมั่นฐานคิดนี้ ถึงขนาดประกาศตัวว่าเป็น มาร์กซิสม์ เณรจะสื่อสารหรืออธิบายอย่างไรให้คนเข้าใจถูกต้อง

ต้องถามก่อนว่าคนที่เข้าใจว่ามาร์กซิสม์เป็นลัทธิคอมมิวนิสต์มีมุมมองไหน ถ้าเขาเป็นอนุรักษ์นิยม (Conservationist) ด่าผม ดิสเครดิตผม ผมโอเคอยู่แล้ว เพราะเขาตั้งต้นเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน คนเก่งไม่เท่ากัน สูงไม่เท่ากัน คนรวย คนจนมีสิทธิ์มีเสียงไม่เท่ากัน เหมือนก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส คนไม่มีที่ดินไม่มีสิทธิ์โหวต

แต่ถ้าคนที่เป็นเสรีนิยม (Liberal) แล้วบอกว่าทำไมลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นพวกหัวรุนแรงเหมือนกันหมด แบบเหมาเจ๋อตุงในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หรือการสังหารหมู่ของเขมรแดง ซึ่งลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ได้มีแค่จีน หรือเขมร แต่ยังมีสแกนดิเนเวีย อิตาลี เยอรมนี สเปน ทั้งหมดเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ แต่ทำไมบางคนถึงสนใจแต่ประเทศที่ใช้ความรุนแรง ผมคิดว่าใจแคบเกินไปที่จะมองแต่แบบนี้

หรือคิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์แต่ทำไมซื้อของแบรนด์เนม ความคิดแบบนี้วิบัติมากๆ เพราะคอมมิวนิสต์ไม่ได้สมาทานนารวม เราไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีที่จะมาทำงานแทนเราอย่างรถแทรกเตอร์ หรือปัญญาประดิษฐ์ แต่ปฏิเสธการขูดรีดแรงงานจากนายทุน เช่น นักเขียนได้รายได้จากบทความที่เขียนหนึ่งแสน แต่เจ้าของบริษัทแบ่งให้แค่สามหมื่น ฐานคิดแบบมาร์กซิสม์พยายามทำให้นักเขียนได้หนึ่งแสนเต็มๆ เพราะเจ้าของบริษัทไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากจ้างนักเขียนให้ทำงาน แต่เขากลับเอาเงินที่ได้มาจากหยาดเหงื่อและแรงการของนักเขียนไปดำเนินธุรกิจต่อ ขยายขูดรีดแรงงานคนอื่นเรื่อยๆ ผมเลยมองว่าไม่เป็นธรรม แรงงานควรได้ค่าแรงที่เป็นธรรม และเขาควรรู้ว่างานที่เขียนหรือทำสร้างเงินได้เท่าไหร่

แล้วถ้าใครบอกว่า คนทำมากได้มาก คนทำน้อยได้น้อย แสดงว่ายังเข้าใจไม่แตกฉาน เมื่อเรามีโรงงานเป็นของตัวเอง โดยการควบคุมกำกับจากภาครัฐ เราจะบริหารบริษัทในรูปแบบสหกรณ์ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ใครทำมากก็ได้มากตามเวลาที่ทำ ใครทำน้อยก็ได้เท่างานที่ทำ แต่ทุกคนจะได้รายได้ที่เป็นผลผลิตจากแรงงานของเขาจริงๆ โดยไม่ถูกหักเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างไปให้นายทุน

ถ้าใครบอกอีกว่า คอมมิวนิสต์คือเผด็จการ นั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะคอมมิวนิสต์ทำให้ทุกคนเท่าเทียมแต่เผด็จการยึดอำนาจไว้ที่คนกลุ่มเดียวแล้วกอบโกยผลประโยชน์ในพรรคพวกโดยไม่สนใจประชาชนเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ตอนนี้ คอมมิวนิสต์จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่มองหารูปแบบรัฐใหม่

รูปแบบรัฐหรือประชาธิปไตยที่เณรต้องการปฏิรูปมีลักษณะอย่างไร

ประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็น Representative Democracy คือเลือกผู้แทนมาบริหารประเทศ มีวาระ 4 ปี ระหว่างนี้ประชาชนไม่มีสิทธิ์ควบคุมผู้แทน หากผิดหวังการทำงาน ต้องรอให้ครบวาระแล้วเลือกกันใหม่ แต่ผมอยากให้เปลี่ยนเป็น Direct Democracy หรือประชาธิปไตยทางตรง ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจได้โดยตรง โดยไม่ต้องผูกขาดอำนาจอยู่ที่ผู้แทน

เมื่อมีสัดส่วนประชาชนเข้าไปออกสิทธิ์ออกเสียงในสภา ยกมือโหวตว่าโรงงานจะทำสายพานการผลิตอะไร สร้างนวัตกรรมอะไรให้มีคุณค่าเพื่อแข่งขันกับตลาดโลกได้ แบบนี้เท่ากับว่านายทุนไม่ได้กำหนดนโยบายรัฐที่สร้างแต่ประโยชน์ในกลุ่มนายทุน อย่างพรรคพลังประชารัฐมีกลุ่มนายทุนหนุนหลัง ซึ่งเข้ามาแทรงแซงกำหนดนโยบายให้กลับไปรับใช้นายทุน หรือสถาบันกษัตริย์มากกว่าประชาชน ผมคิดว่าประชาธิปไตยทางตรงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ผมกำลังจินตนาการไปหาประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อนายทุน เพราะนายทุนไม่ได้ผลิตอะไรอยู่แล้วนอกจากเงินที่เป็นของปลอมเป็นแค่กระดาษ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ใช่ และไม่ใกล้เคียงอย่างที่เณรคิด เพราะรัฐเผด็จการผูกขาดอำนาจทั้งหมดไว้ โดยไม่ยอมสละอำนาจที่ยึดมาไปง่ายๆ จึงพยายามทำทุกวิธีเพื่อควบคุมและกำจัดผู้คนที่แสดงท่าทีต่อต้านคัดค้าน

ผมไม่ได้ที่จะเรียกร้องให้เป็นประเทศเป็นคอมมิวนิสต์แบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน แต่ผมพยายามจะบอกว่ายังมีคนที่มีวิธีคิดแบบผมอยู่ มีความห่วงใยในแรงงานและสวัสดิการของคนในประเทศอยู่ ในระบอบประชาธิปไตยควรยอมรับในความคิดที่เห็นต่างแบบนี้ไม่ใช่หรือ

ไม่น่าจะเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยได้ ในเมื่อรัฐกำลังปิดกั้นไม่ให้แสดงออกทางการเมืองอย่างเสรี จึงควรรีบทำให้ประเทศกลับมาเป็นระบบวิธีคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย เราอาจจะไม่ได้มีระบบประชาธิปไตยเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพอย่างที่ผมพูด แต่แรงงานควรเรียกร้องให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายแบบนี้มา แล้วพรรคการเมืองต้องทำตาม ถ้าไม่ทำเราจะไม่เลือก อย่างที่ผ่านๆ มา ผู้ร่วมชุมนุมบอกว่า ถ้าไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอนโยบายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็จะไม่เลือก มันควรเป็นแบบนั้น เพราะนักการเมืองต้องรับใช้ประชาชน แล้วภาพในอุดมคติของผมคือ รัฐสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาลฟรี เรียนฟรี รัฐให้สวัสดิการประชาชนเท่าไหร่ กษัตริย์ก็ควรได้รับเท่าประชาชน เพราะทุกคนเท่ากัน

เมื่อจุดเริ่มต้นของการบวชเกิดจากความไม่เต็มใจ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ไหมที่เณรจะลาสิกขามาใช้ชีวิตแบบฆาราวาส

อนาคตไม่แน่นอน แต่ถ้ายังทำเป้าหมายไม่เสร็จ ยังปฏิรูปสถาบันศาสนาไม่ได้ ก็ไม่ควรออกไป ต้องอยู่ต่อเพื่อเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็คิดว่ามีอีกหลายปัจจัยที่บังคับให้ผมสึก เช่น ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 หรือ 116 ซึ่งผมทำใจไว้แล้วว่าสักวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้น เพราะการเมืองตึงเครียดเรื่อยๆ พร้อมถึงจุดแตกหักได้ทุกเมื่อ

หากทุกข์และการดับทุกข์คือหัวใจของศาสนาพุทธ อะไรคือความทุกข์ที่เณรประสบอยู่ แล้วจะดับทุกข์นั้นอย่างไร

ตั้งแต่ถูกอำนาจรัฐเข้ามาคุกคาม การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบากกว่าเดิม แต่นี่ก็ไม่ได้ทำให้เป็นทุกข์เท่ากับเวลารู้ว่ามีคนบาดเจ็บและถูกทำร้ายเพราะร่วมชุมนุม ไม่ควรจะมีเหตุการณ์แตกหักที่นำไปสู่การเสียชีวิตของทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมาผมกังวลเรื่องนี้มาก ไม่มีใครสมควรต้องเจ็บ อุ้มหาย และตายเพราะคิดต่างจากรัฐ รัฐต้องฟังประชาชนและหยุดทำร้ายประชาชนไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ

เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ ไม่มีประชาชนก็ไม่มีชาติ

อ้างอิง

หลุดพ้นจากขนบเก่าของอำนาจศาสนา สู่ความหวังสร้างสังคมใหม่ของ ‘สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า’