Guestpost โฟสฟรี ถ้าคุณมีสาระดีๆ ที่นี่เราให้คุณได้แบ่งปัน

Notifications
Clear all

"มังคุด" ราชินีผลไม้ กับงานวิจัย "ต้านมะเร็ง"

1 Posts
1 Users
0 Likes
203 Views
pensuda
(@pensuda)
Posts: 2479
Noble Member
Topic starter
 

162851276869

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของ "ราชินีผลไม้" อย่าง "มังคุด" ที่กำลังออกผลผลิตมาเยอะมากจน "ล้นตลาด" ราคาตกต่ำ หลายคนจึงออกมาช่วยซื้อและสนับสนุนชาวสวนไทย อีกทั้งก่อนหน้านี้ เคยมีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่าการกินมังคุดนึ่ง ช่วยรักษามะเร็งได้ แต่เรื่องนี้นักวิชาการออกมาเตือนว่าไม่แนะนำ เพราะยังไม่มีผลยืนยันทางการแพทย์

แต่ถ้าจะกินเพื่อประโยชน์ในการเสริมสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน ก็กินได้ในปริมาณที่พอดี เพราะมังคุดมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย ซึ่งกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมมาให้ทราบกัน ดังนี้

"มังคุด" ช่วยต้านมะเร็งได้จริงหรือไม่?

ผศ.ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (7 มี.ค. 2563) ชี้ชัด มีงานวิจัยที่ค้นพบว่า สารสกัดจากเปลือกมังคุดมีสารที่ชื่อว่า “แซนโทน” มีผลในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้จริง แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาในเซลล์มนุษย์หรือร่างกายมนุษย์ ยังต้องรอการศึกษาทางการแพทย์ยืนยันให้ชัดเจนต่อไป

อีกทั้ง ก่อนหน้านี้เกิดกระแสที่แชร์กันในโลกออนไลน์ว่า หากนำมังคุดมานึ่งก่อนรับประทาน (เพื่อให้สารสำคัญในเปลือกมังคุดซึมเข้าไปยังเนื้อมังคุด) เชื่อว่าจะช่วยรักษามะเร็งได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ผศ.ภก.ธนรัตน์ ระบุว่าไม่แนะนำ เพราะถึงแม้จะมีสารแซนโทนซึมเข้าไปในเนื้อมังคุด แต่ก็มีปริมาณน้อยมากๆ ไม่มีผลในการรักษามะเร็ง และอาจจะมีสารเคมีจากเปลือกมังคุดปนเปื้อนได้

สรรพคุณ "เปลือกมังคุด" ในยาแผนไทย

ส่วนในแง่สรรพคุณทางยาแผนโบราณนั้น ผศ.ภก.ธนรัตน์เล่าว่า “เปลือกมังคุด” เป็นสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยาในการแพทย์แผนไทยมานานแล้ว โดยสมัยก่อนจะนำเปลือกมังคุดแห้งไปต้มกับน้ำแล้วดื่ม เพื่อช่วยลดอาการท้องเสีย รวมถึงมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้ออ่อนๆ ด้วย

ในทำนองเดียวกัน มีข้อมูลจาก นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ โฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า "เปลือกมังคุด" ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ (อุจาระไม่มีมูกเลือดปน ไม่มีไข้ร่วมด้วย) มีหลักฐานการใช้เป็นยาตามตำราการแพทย์แผนไทยและหลักการสาธารณสุขมูลฐาน

วิธีการคือ นำเปลือกผลมังคุดตากแห้งประมาณ ½ ผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียมบดเป็นผง แล้วละลายในน้ำต้มสุกประมาณครึ่งแก้ว (100 มล.) ดื่มทุก 2 ชั่วโมง

มังคุดมีสารสำคัญ "แซนโทน" และ "แทนนิน"

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า เปลือกมังคุดมีสารกลุ่ม "แซนโทน" (Xanthone) ที่สำคัญ ได้แก่ แอลฟา-แมงโกสทิน ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ในเปลือกมังคุดยังพบ "สารแทนนิน" (Tannin) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยสมานแผลด้วยการทำให้หลอดเลือดหดตัว ป้องกันการสูญเสียน้ำของแผล ซึ่งมีส่วนช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และลดการเคลื่อนตัวของลำไส้ จึงทำให้สามารถบรรเทาอาการท้องเสียได้

ส่วนการรับประทานเนื้อมังคุด ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง หากทานมากเกินไปจะทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ คนที่ป่วยเบาหวานต้องระวังในการรับประทาน

โดย "เนื้อมังคุด" มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี1 บี2 บี3 บี6 บี9 และบี12 รวมถึงแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก แมงกานิส ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนช่วยให้กลไกต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

รู้หรือไม่? กรุงเทพฯ มีวังสวนมังคุด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างคือ แม้มังคุดจะเป็นพืชที่ มีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายู แต่ในยุคหนึ่งก็มีการนำมาปลูกในไทยตั้งแต่สมัยโบราณ มีบทความวิชาการจาก ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า

ในกรุงเทพมหานครมี "วังสวนมังคุด" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่สำหรับปลูกมังคุดเพื่อรับรองคณะทูตที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นกำแพงของวังสวนมังคุดปรากฏอยู่ (ทางเดินไปวัดระฆัง/วังหลัง)

ส่วนสรรพคุณตามตำรายาไทยโบราณที่มีส่วนผสมของมังคุด ระบุไว้ว่า

  • ราก ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ รักษาโรคบิดมูกเลือด
  • ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด
  • เปลือกต้น ชะล้างบาดแผล รักษาแผล
  • ผลดิบ สมานแผล แก้บาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด
  • เปลือกผล แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ท้องเสีย
  • เนื้อในผล บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย

สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า เนื้อมังคุด มีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ส่วนเปลือกมังคุดจะพบสารกลุ่มแซนโทน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด จึงถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์รักษาสิว ผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก เจลทารักษาโรคปริทันต์และแผลในปาก เป็นต้น

-------------------------

อ้างอิง : คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล, กรมการแพทย์แผนไทย, Mahidol Channel, Medthai
https:// www.bangkokbiznews.com/news/detail/953693

 
Posted : 10/08/2021 9:45 am
Share: