คนเจ็บ-เศรษฐกิจแตกเป็นเสี่ยง ผลจากการประท้วงในฮ่องกง

ฮ่องกงโมเดล - การประท้วงที่ฮ่องกง

(13 ส.ค.62) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรตติ้ง กล่าวถึงการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมากว่า 2 เดือน  และยังไม่มีท่าทีที่จะจบลงง่ายๆว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและดูเหมือนว่าทางการยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะทำให้เกิดผลที่ตามมาในระยะยาวโดยเฉพาะความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ”

ตอนนี้เศรษฐกิจฮ่องกงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากการชุมนุมประท้วง และทำให้ทั้งเกาะตกอยู่ภายใต้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกาะฮ่องกงที่เปรียบเสมือนเมืองหลวงของเอเชียจะแปรเปลี่ยนสภาพเป็น การยกเลิกเที่ยวบิน ปิดสถานีรถไฟใต้ดิน ห้างสรรพสินค้าที่ร้างไร้ผู้คน  ยังไม่รวมถึงตลาดทุน ที่ดัชนีฮั่งเส็งร่วงลงไปแล้วกว่า 9% ตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การลุกฮือของชาวฮ่องกงในครั้งนี้ ได้ส่งสัญญาณความรุนแรงมาขึ้น เริ่มจากช่วงเย็นของวันที่ 2 สิงหาคมที่ประชาชนไปรวมตัวกันตามถนนสายต่างๆ และอีกครั้งในวันที่ 5 สิงหาคมที่เป็นการท้าทายทางการจีน จนมาถึงการปิดสนามบินเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมชุมนุมมีตั้งแต่ทนายความไปจนถึงนักเรียน นักเคลื่อนไหวไปจนถึงผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ก่อสร้าง การศึกษา การเงิน สุขภาพ ค้าปลีก แม้แต่ผู้ที่ทำงานในสวนสนุกก็ยังออกมาร่วมชุมนุมประท้วงในคร้งนี้ด้วย

การท่องเที่ยว

ธนาคาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร แม้แต่อาคารสำนักงานของรัฐบาล ต้องปิดทำการ จากการประท้วงที่ยกระดับความรุนแรงกลายเป็นการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่

สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกันกับโรงแรมหรูเพนนิซูล่าในฮ่องกงอีก 2-3 แห่งในย่านจิมซาจุ่ย  เป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบล่าสุด ยอมรับว่าการประท้วงทำให้การการเดินทางลดลงไปมากกว่าครึ่งและผู้โดยสารกำลังชั่งใจว่าจะทำการจองตั๋วเดินทางต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในครึ่งปีหลัง ส่วนตัวโรงแรมกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ชะลอการเดินทางเข้ามาฮ่องกง ยอดจองห้องพักที่ลดลงตามไปด้วย รวมถึงก่อนหน้านี้ที่ สหราชอาณาจักร ญุ่ป่น สิงคโปร์ และออสเตรเลียที่ออกคำเตือนห้ามการเดินทางเข้าฮ่องกงหลังการประท้วงทวีความรุนแรง  

ไม่เฉพาะการท่องเที่ยวแต่ยังรวมไปถึงธุรกิจและสินค้าเครื่องสำอางค์และสุขภาพ โดยบริษัท บองชูว์ โฮดดิ้ง เปิดเผยผลประกอบการในเดือนมิถุนายนที่ร่วงลงโดยกล่าวว่าเป็นความผิดของผู้ประท้วง  

การบิน

ปีที่แล้วสนามบินฮ่องกงรองรับผู้โดยสารมากถึง 74 ล้านคน มากกว่า 1,000 เที่ยวบินทั้งการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ออกไปยัง 200 จุดหมายทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าจีดีพีที่มากถึง 5% ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการเปิดเผยของเลขาธิการด้านการขนส่งของฮ่องกง “แฟรงค์ ชาน”  เฉพาะการปิดสนามบินจะมีความเสียหายเป็นสิบๆล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  แม้จะกลับมาเปิดสนามบินได้ตามปกติ แต่ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียว แต่จะยังส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนข้างหน้าจากการยกเลิกและการจองตั๋วโดยสารใหม่

ค้าปลีก

เครื่องจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกง ค้าปลีกในฮ่องกงเดือนมิถุนายนร่วงลงถึง 6.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งนอกจากปัญหาการประท้วงที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เผชิญปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนอยู่แล้ว  รวมถึงค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าและสงครามการค้า   เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ลงบทสัมภาษณ์เจ้าของร้านขายเครื่องเขียนแห่งหนึ่งในถนนแมทดิสัน คอสเวย์เบย์ โดยบอกถึงสถานการณ์ว่า ยอดขายร่วงลง 50%-70% ตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา มียอดขายน้อยกว่า 3 ร้อยเหรียญฮ่องกง แต่มีภาระค่าเช่าที่มากถึง 2หมื่นเหรียญฮ่องกงต่อเดือน  และยังกล่าวต่อว่า “ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ได้ทำให้สถานการณ์แย่มากแล้ว การประท้วงยิ่งตอกย้ำทำให้แย่ที่สุด”และยกตัวอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่มาจากมลฑลซินเจียงของจีนใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 2หมื่นหยวน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยลงมากเมื่อเทียบกับตอนที่เดินทางมาเมื่อปี 2010 หรือ 9 ปีที่แล้ว  แม้ว่ามีอีกหลายที่ที่ต้องการเดินทางไป แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะการประท้วงตามท้องถนน

บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก

7 บริษัทของฮ่องกงอยู่ในรายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก จาก 500 บริษัท รวมถึง เลอโนโว ซีเค ฮัทชิสัน และธนาคารพาณิชย์ระดับโลก ต่างออกมากังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ที่จะลามไปถึงผลประกอบการ ส่งผลกระทบต่อไปยังห่วงโซ่อุปทาน และการลงทุน

เครดิต https://www.thansettakij.com/content/world/407125