องค์การอนามัยโลกเน้นว่า “โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่” และ “ยังไม่ถือเป็นโรคประจำถิ่น” หลังเริ่มมีแนวคิดดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากการที่เชื้อโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้ออีกหลายสายพันธุ์
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ว่า นพ.ฮันส์ คลูเกอ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ประจำภูมิภาคยุโรป แถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ ดับเบิลยูเอชโอบันทึกสถิติผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะในภูมิภาคแห่งนี้ มากกว่า 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นสองเท่าตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ก่อนหน้า
หากอัตราการติดเชื้อในภาพรวมยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐร่วมด้วย นพ.คลูเกอ คาดการณ์ว่า มากกว่า 50% ของประชากรในยุโรปจะติดโควิด-19 ภายในระยะเวลาอีก 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า โดยปัจจุบัน ดับเบิลยูเอชโอยืนยันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอมิครอน ในอย่างน้อย 50 จาก 53 ประเทศในยุโรปและเอเชียกลาง
เกี่ยวกับผลการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสตัวนี้ ที่เผยแพร่ออกมาในทางเดียวกันมากขึ้น ว่าส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน มากกว่าการลงไปที่ปอด จึงเป็นเหตุผลหลัก ว่าเพราะเหตุใดเชื้อโอมิครอนจึงก่อให้เกิดอาการป่วย “ไม่รุนแรงเทียบเท่า” เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น อาทิ เดลตา อย่างไรก็ตาม นพ.คลูเกอ เน้นว่า ยังต้องมีการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดต่อไป เนื่องจากมีข้อมูลอีกมากที่ทุกฝ่ายยังคงต้องการความกระจ่าง
ขณะที่พญ.แคเธอรีน สมอลวู้ด หัวหน้าฝ่ายตอบสนองฉุกเฉินของดับเบิลยูเอชโอ ประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวเสริมว่า จริงอยู่ที่ทุกฝ่ายประเมินว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด “แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันถือว่ายังไม่ใช่” ดับเบิลยูเอชโอไม่สนับสนุนให้มีการสรุปเอง ว่าโควิด-19 “ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่” เพราะการคิดเช่นนั้น เท่ากับเป็นการลดระดับความเข้มข้นของมาตรการ จากระดับโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ การกำหนดให้โรคใดก็ตามเป็นโรคประจำถิ่น อัตราการระบาดต้องมีความเสถียร และการแพร่กระจายหรือการติดต่อของโรคต้องคาดการณ์ได้ แต่โควิด-19 “ยังไม่อยู่ ณ จุดนั้น”
อ้างอิง